Monday, July 27, 2009

'เด็กแว้น' ชีวิตติดหล่ม

วันที่พ่อแม่มีความสุขหลังจากซื้อรถมอเตอร์ ไซค์ให้ลูกตามคำขอ คล้อยหลังไม่นานก็รู้สึกผิด หลังจากลูกซิ่งมอเตอร์ไซค์จนเสียชีวิต บทเรียนราคาแพงที่แลกมาด้วยชีวิต กี่หยาดน้ำตาต้องเสียใจเพราะมารู้ทีหลังว่า ลูกเป็น “เด็กแว้น” แต่ยังมีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาวงการนี้ ไม่หยุดหย่อน ต่อแถวเพื่อก้าวไปสู่การเป็น “ตัวขี่” ซึ่งได้รับการยอมรับจากนักบิดสนามเถื่อน

ดูเหมือนปัญหา “เด็กแว้น” กับสังคมไทยเรื้อรังมานานและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่สังคมตีตราสิงห์นักบิดเหล่านี้ ไม่ต่างจากขยะสังคม ความจริง เด็กพวกนี้ชีวิตอาจกำลังติดหล่ม รอคอยให้ผู้ใหญ่ฉุดเขาขึ้นไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หากย้อนกลับไปมีความพยายามของหลายหน่วยงานยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่ไม่นานก็หายไป 5 ปี กับการเป็นเด็กแว้น ชอบท้าประลองความเร็วบนถนนย่านเพชรเกษมและพุทธมณฑล ก้าวมาสู่ “ตัวขี่” ซึ่งเด็กแว้นใช้เรียกนักขับฝีมือดีอย่าง เช่น โอ (นามสมมุติ) วัย 25 ปี เล่าว่า ตอนแรกไม่มีรถก็อาศัยซ้อนรุ่นพี่ก่อน พอหลังจากนั้นก็ขอให้แม่ซื้อรถให้และเริ่มแต่งรถอย่างจริงจัง แรงจูงใจคือ ต้องการให้เพื่อน ๆ ในกลุ่มยอมรับและอยากมีชื่อเสียงในหมู่เด็กแว้น

คุณสมบัติของ “ตัวขี่” น้ำหนักตัวต้องเบา ขับรถไม่ประมาท ที่สำคัญใจต้องถึง วันแข่งส่วนใหญ่เป็นวันศุกร์, เสาร์ เวลากลางคืน โดยการแข่งมี 2 แบบคือ แบบแรก ระยะที่ยังไม่มีชื่อเสียงจะใช้รถตัวเองขี่ โดยตระเวนไปกับเพื่อนประมาณ 10 คัน ขับวนไปในสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการแข่งประจำ พอไปเจอฝ่ายตรงข้ามจึงพยายามสังเกตตัวรถและเสียงเครื่องยนต์ หากมองดูแล้วสามารถสู้ได้ก็จะท้าประลอง อาจมีเงินเดิมพันหรือไม่มีก็แล้วแต่จะตกลงกัน ย่านบางใหญ่ จ.นนทบุรี เป็นพื้นที่เถื่อนสุด เพราะหลายครั้งไปแข่งแล้วตนชนะ ฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมจ่ายเงินเดิมพัน แต่กลับใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าหรือยิงใส่คนอื่น

แบบที่ 2 เมื่อเริ่มมีชื่อ ร้านแต่งรถจะโทรฯ มาตามให้ไป ขี่รถของร้านไปแข่งกับร้านอื่น เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับร้าน โดยร้านจะเตรียมรถที่แต่งไว้แล้วมาให้ เดิมพันต่ำสุด 5,000 ถึง หลักแสน ซึ่งถ้าแข่งชนะจะได้เงินส่วนแบ่ง 10% แต่ละครั้งได้เงินมาก็เอาไปแต่งรถตัวเองหมด

ร้านแต่งรถแข่งส่วนใหญ่จะไม่ซ่อมให้รถธรรมดา เพราะถือว่าเสียเวลา ส่วนใหญ่ร้านมีขนาดเล็ก ๆ หลบอยู่ตามซอยต่าง ๆ ภายในร้านมีวัยรุ่นมั่วสุมหรือหน้าร้านจะมีรถที่แต่งไว้แล้วโชว์อยู่ ตอนนี้ร้านเหล่านี้เปิดกันมากขึ้น ช่างเองพยายามแสดงฝีมือเพื่อดึงดูดเด็กให้มาแต่งรถที่ร้าน ช่างส่วนใหญ่ไม่จบด้านนี้โดยตรง แต่อาศัยอยู่ในร้านที่แต่งรถมาก่อน แล้วลักจำสูตรการแต่งรถมาเปิดร้านเอง เนื่องจากในตำราเรียนไม่มีการสอนแต่งรถเพื่อแข่ง แต่ร้านเหล่านี้จะมีตำราการแต่งเป็นสูตรที่ตายตัวคิดขึ้นเอง หรือบางร้านแต่งเครื่องไม่เป็นก็ไปจ้างอีกร้านทำเครื่องแล้วมาประกอบ

“การแต่งตัวเมื่อไปแข่งก็ใส่เสื้อยืด กางเกงยีนธรรมดา ที่สำคัญจะไม่ใส่หมวกกันน็อกเพราะทำให้รถหนัก รถที่ร้านแต่งจะเปลือยตัวถังหมดเพื่อให้รถเบาที่สุด ส่วนความเชื่อก่อนแข่งต้องไหว้แม่ย่านางรถและขอเจ้าที่เจ้าทางก่อนแข่งเสมอ แต่หากวันไหนเราเห็นคนอื่นตายจะไม่แข่งเพราะถือว่าวันนั้นฤกษ์ไม่ดี เวลาเห็นเพื่อนตายรู้สึกธรรมดาคิดเสียว่า โชคชะตาเขามีแค่นี้” โอ เล่า

การแต่งรถ หากทำเครื่องราคาจะอยู่ที่หมื่นกว่าบาท ตกแต่ง ภายนอกอีกตกเดือนละ 2,000-4,000 บาท ส่วนรถที่เอาไปแข่งบ่อย ๆ อายุงานเครื่องยนต์อยู่ได้แค่ 2 เดือน เงินที่ใช้ในการแต่งรถได้จากการขอแม่และเก็บออมเงิน แต่บางคนไม่มีเงินแต่งรถ ก็ไปขายยาบ้า คนพวกนี้มักแฝงตัวอยู่ในแก๊งต่าง ๆ

บ่อยครั้งที่เด็กแว้นแข่งรถแล้วประสบอุบัติเหตุ โอ มองว่า ส่วนใหญ่เกิดจากการที่รถมอเตอร์ไซค์เกี่ยวกัน เนื่องจาก “ตัวขี่” นิยมใช้เทคนิคการขี่แบบ “ลมดูด” เพราะเชื่อว่า การขี่รถจี้ไปด้านหลังคู่แข่งหรือรถที่อยู่บนท้องถนน รถที่ตนขี่อยู่จะไม่โต้ลมทำให้ลดแรงเสียดทาน เมื่อจี้เข้าไปใกล้มากที่สุดแล้วก็หักรถขึ้นแซงคันหน้า เชื่อว่าจะมีแรงลมช่วยส่งให้รถแรงขึ้นเบียดแซงคู่แข่ง บางคันโชคร้ายก็เกี่ยวกันล้มหรือมองไม่เห็นรถฝั่งตรงข้ามพอขึ้นแซงจึงถูกชนประสานงา บางครั้งรถคันหน้าไม่อยากให้ใช้ “ลมดูด” ก็ขี่รถแกว่งไปมาเพื่อหนี แต่รถดันมาเสียหลักล้ม ส่วนเทคนิค “ลักไก่” เมื่อออกตัวก็ประสบอุบัติเหตุมาก เพราะ “ตัวขี่” พยายามออกตัวก่อนคู่แข่ง แล้วรถมันสะบัด หากทรงตัวไม่ดีรถคว่ำมาแล้วหลายราย

สิ่งที่มันส์มากที่สุดของ “เด็กแว้น” คือ การขี่รถหนีตำรวจตื่นเต้นกว่าขี่แข่งกันเอง เพราะต้องลุ้นว่าจะรอดหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่จะเกิดอุบัติเหตุรถเกี่ยวกัน เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเนื่องจากเมื่อรถล้มมีรถอีกหลายคันวิ่งตามมาพร้อมทับเราทุกเมื่อ ขณะเดียวกันช่วงชุลมุนอาจมีเสียงปืนดังขึ้น ไม่รู้มาจากพวกเดียวกันหรือตำรวจ แต่เพื่อนเคยโดนลูกหลงตายมาแล้วโดยไม่รู้ว่าใครยิง

“พวกสาวสก๊อยส่วนใหญ่เด็กแว้นพามาอวดกันมากกว่า แต่ก่อนเคยมีบางแก๊งแข่งโดยเอาสก๊อยเป็นเดิมพัน เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เราเองเมื่อแข่งจะไม่พาไปเพราะจะได้หนีตำรวจได้สะดวก ยิ่งกว่านั้นผู้หญิงบางคนพอเห็นผู้ชายหล่อมีรถสวยก็ใช้เวลาช่วงเรากำลังแข่ง แอบไปขอเบอร์โทรฯ ฝ่ายตรงข้าม แต่ต้องทำใจผู้หญิงพวกนี้รักใครไม่ได้นาน”

โอ ทิ้งท้ายว่า หลายคนอาจมองเด็กแว้น เป็นขยะสังคม แต่เราก็มีจิตใจ แค่อยากโชว์รถ ภาครัฐเองก็ไม่เคยมีนโยบายชัดเจนในการสนับสนุนเด็กให้แข่งรถ ซึ่งหากมีการจัดการแข่งจริง ๆ จะช่วยลดปัญหาเด็กแว้น ได้บางส่วน ขณะที่เจ้าของร้านแต่ง รถมอเตอร์ไซค์ย่านชานเมือง แห่งหนึ่งเล่าว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นวัยรุ่นมาแต่งเยอะสุดช่วงต้นเดือน และเทศกาลต่าง ๆ รายได้ ต่อเดือนตกอยู่ที่ 4-5 หมื่นบาท สิ่งที่เด็กแว้นมาแต่งมากที่สุดคือ 1.เปลี่ยนล้อ เนื่องจากทำง่ายราคาถูก 2.ยัดลูกสูบ ทำให้รถมีแรง อัดเพิ่มขึ้นวิ่งได้แรงกว่าเดิม 3. แต่งสวยงาม เช่น ปาดเบาะหรือทำท่อ 4.ทำเครื่อง ราคาขึ้นอยู่กับคุณภาพอะไหล่ที่ใช้ ขณะที่บางคนสนิทกับร้านสามารถแต่งรถไปก่อนแล้วผ่อนส่งได้ เช่น อะไหล่ราคา 5,000 บาท จ่ายก่อน 3,000 บาท ที่เหลือผ่อนเป็นรายเดือนได้

“บางครั้งเห็นเด็กที่รู้จักกันแต่งรถที่ร้านแล้วออกไปซิ่งรถ คว่ำตาย เราเองก็เสียใจเหมือนกัน แต่เข้าใจว่าเป็นช่วงวัยรุ่น ใจร้อนชอบท้าทาย แต่ก็ต้องรู้จักนึกถึงความปลอดภัยบ้าง จึงอยากให้รัฐบาลจัดกิจกรรมที่ให้วัยรุ่น ได้แข่งขันกันอย่างถูกกฎหมาย ไม่ต้องไปเสี่ยงวิ่งบนท้องถนน เพราะนอกจากเสี่ยงชีวิตแล้วยังเสี่ยงติดคุกด้วย” เจ้าของร้านกล่าว

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวถึงปัญหาเด็กแว้นว่า เกิดจากเด็กไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว พ่อแม่ชอบตำหนิและบ่นลูกอยู่เป็นประจำ เด็กจึงออกไปหาการยอมรับจากภายนอกในรูปแบบต่าง ๆ โดยไม่คำนึงว่าถูกหรือผิด ดังนั้นครอบครัวควรมีกิจกรรมให้ลูกได้แสดงออกในทางบวกและชื่นชมในความสามารถเพื่อให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจ

ด้านครอบครัวที่สงสัยว่า เด็กกำลังเข้าสู่วงจรนี้ควรสังเกตพฤติกรรมลูกว่า เริ่มหายหน้าหายตาในเวลากลางคืนหรือไม่ ขณะเดียวกันเด็กเริ่มพูดภาษามอเตอร์ไซค์ต่าง ๆ มากขึ้น และร้องขอให้ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้ เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นครอบครัวไม่ควรตำหนิเด็ก แต่ต้องพูดคุยด้วยทีท่าที่พร้อมรับฟังและเสนอแนะข้อถูกผิด ประกอบกับศึกษาพฤติกรรมของลูกไปเรื่อย ๆ

สำหรับกรณีที่พ่อแม่มีลูกเป็น “เด็กแว้น” สิ่งแรกต้องทำคือ ผู้ปกครองควรให้กำลังใจตัวเองก่อน เพราะทุกคนย่อมคาดหวังในตัวลูกสูง เมื่อผิดหวังอาจท้อแท้หรือทำร้ายจิตใจเด็กให้แย่ลง ควรคิดในแง่บวกว่า คนในครอบครัวสามารถทำให้ลูกเป็นเหมือนเดิมได้ ต่อมาจึงให้กำลังใจเด็กโดยพยายามรับฟัง และเสนอแนะการกระทำที่ถูกแล้วจึงหากิจกรรมสร้างสรรค์ทำในครอบครัว เช่น ท่องเที่ยว, เล่นกีฬา “การเปลี่ยนพฤติกรรมลูกที่เป็นเด็กแว้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องใช้เวลา โดยผู้ปกครองควรให้ความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราเองด้วย จึงอยาก ฝากให้สังคมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ให้กับ เด็กเหล่านี้ได้มีพื้นที่แสดงออก อย่างสร้างสรรค์”

ในทางตรงกันข้ามตำรวจเองไม่ควรใช้ความรุนแรงในการ จับเด็กบ่อยจนเกินไป เพราะเมื่อเกิดความรุนแรงสะสมบ่อยขึ้น เด็กพวกนี้จะรวมกลุ่มกันเพื่อแก้แค้นเจ้าหน้าที่ ดังนั้นควรใช้ความระมัดระวังให้มากขึ้น ฉะนั้น ปัญหา “เด็กแว้น” เรื้อรังมานานยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากภาครัฐ หลายครั้งจุดประเด็นขึ้นมาตื่นตัวเป็นพัก ๆ แต่ที่น่าเศร้าคือ ผู้ใหญ่ไม่เคยตั้งโต๊ะคุยกับเด็กถึงแนวทางแก้ไขปัญหาเรื้อรังนี้

เพิ่มเติมhttp://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=486&contentId=10551&hilight=อะไหล่

No comments:

Post a Comment